มวยไทย
ประวัติศาสตร์อันยาวนานของมวยไทยเริ่มมีและใช้กันในการสงครามในสมัยก่อน ในปัจจุบันมีการดัดแปลงมวยไทยมาใช้ในกองทัพโดยเรียกว่า "เลิศฤทธิ์" ซึ่งแตกต่างจากมวยไทยในปัจจุบันที่ใช้เป็นการกีฬา โดยมีการใช้นวมขึ้นเพื่อป้องกันการอันตรายที่เกิดขึ้น มวยไทยยังคงได้ชื่อว่า ศาสตร์การโจมตีทั้งแปด ซึ่งรวม สองมือ สองเท้า สองศอก และสองเข่า (บางตำราอาจเป็น นวอาวุธ ซึ่งรวมการใช้ศีรษะโจมตี หรือ ทศอาวุธ ซึ่งรวมการใช้บั้นท้ายกระแทกโจมตีด้วย)
มวยไทยสืบทอดมาจากมวยโบราณ ซึ่งแบ่งออกเป็นแต่ละสายตามท้องที่นั้น ๆ โดยมีสายสำคัญหลัก ๆ เช่น มวยท่าเสา (ภาคเหนือ) มวยโคราช (ภาคอีสาน) มวยไชยา (ภาคใต้) มวยลพบุรีและมวยพระนคร (ภาคกลาง) มีคำกล่าวไว้ว่า "หมัดดีโคราช ฉลาดลพบุรี ท่าดีไชยา"
ประวัติมวยไทย ๔ ภาค
....รัชสมัยกรุงธนบุรี ต่อเนื่องถึงกรุงรัตนโกสินทร์ ตอนต้น ชนชาวสยาม เป็นปึกแผ่น รวมเขตแดน รวมแผ่นดินได้มากแล้ว แต่ยังไม่ว่างเว้น จากศึกสงครามใหญ่น้อย ภัยรอบบ้าน เรื่องการฝึกปรือ กลมวย เพลงดาบ จึงนับได้ว่าเป็นศิลปะประจำชาติที่สำคัญ ซึ่งคนไทยโดยทั่วไป ใส่ใจ และให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ ศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว จึงได้เกิด สำนักมวย สำนักดาบ ขึ้น แม้แต่ในพระมหาราชวัง ก็ยังมีการเรียนการสอน กระบี่กระบอง วิชามวย และพิชัยสงคราม อันเป็นหลักสูตรสำคัญ โดยเฉพาะมวยไทย ที่มีรูปแบบการใช้อวัยวะเป็นอาวุธ ทั้ง หมัด เท้า เข่า ศอก คล้ายคลึงกันทั่วประเทศ แต่ถึงกระนั้น ด้วยความเป็นชนชาติอิสระ และมีภูมิปัญญา วิชามวย ก็ได้แตกแขนง แบ่งกลุ่ม แบ่งภาค กันออกไปอย่างเด่นชัด ทั้งท่ารำร่ายไหว้ครู รูปแบบลีลาท่าย่าง ท่าครู แม่ไม้ ลูกไม้ อีกทั้งความชำนาญเรื่อง การจัก สาน ร้อย ทำให้การคาดเชือก ถักหมัด มีรูปแบบเฉพาะตัวอีกมากมาย โดยหลักใหญ่แบ่งได้ตามภูมิภาค คือ
ภาคเหนือ
มวยท่าเสา มวยเม็งราย มวยเจิง ฯลฯ มวยท่าเสา เป็นมวยเชิงเตะ คล่องแคล่ว ว่องไว ทั้งซ้ายขวา จนได้ฉายา มวยตีนลิง คาดเชือกประมาณครึ่งแขน
มวยเจิง
ภาคอีสาน
มวยโคราช มวยหลุม ฯลฯ มวยโคราช ลักษณะการ เตะ ต่อย เป็นวงกว้าง นิยม คาดเชือก ขมวดรอบแขนจนจรดข้อศอก เพื่อใช้รับการเตะ ที่หนักหน่วงรุนแรง
มวยโคราช
ภาคกลาง
มวยลพบุรี มวยพระนคร ฯลฯ มวยลพบุรี ลักษณะการชก ต่อย วงใน เข้าออกรวดเร็ว เน้นหมัดตรง การคาดเชือก จึงคาดเพียงประมาณครึ่งแขน
มวยพระนคร
ภาคใต้
มวยไชยา ฯลฯ มวยไชยา ลักษณะการรุก-รับ รัดกุม ถนัดการใช้ศอกในระยะประชิดตัว การคาดเชือกจึงนิยมคาดเพียง คลุมรอบข้อมือ เพื่อกันการซ้น หรือเคล็ด เท่านั้น
มวยไชยา
การศึกษาศิลปะมวยไทย
มีผู้กล่าวกันว่ามีตำนานเกี่ยวเนื่องกับพระนางจามเทวี ผู้สร้างเมืองลำพูน ว่า เมื่อประมาณ พ.ศ. 1200 มีพระฤๅษีนาม สุกกะทันตะฤๅษี ซึ่งเป็นสหายธรรม กับ ท่านสุเทวะฤๅษี เป็นพระอาจารย์ผู้สั่งสอน ธรรมวิทยา แล ศิลปศาสตร์ทั้งปวงอันควรแก่การศึกษาสำหรับขุนท้าวเจ้าพระยาทั้งหลาย โดยตั้งเป็นสำนักเรียนขึ้นที่ เขาสมอคอน แขวงเมืองลพบุรี(ลวะปุระ หรือ ละโว้ ) ในสรรพวิทยาทั้งหลายนั้น ประกอบด้วยวิชชาอันควรแก่ ชายชาตรี ที่เรียกว่า มัยศาสตร์ (มายาศาสตร์ มาจาก มัย+ศาสตระ แปลว่า วิชาที่ฝึกเพื่อให้สำเร็จ หรือบ้างเรียกว่า วิชาชาตรี "ชาตรี" แปลว่า เหนือกว่าที่เกิด ) อันได้แก่ วิชามวย วิชาดาบ วิชาธนู วิชาบังคับช้าง ม้า ซึ่งเป็นการฝึกฝนเพื่อให้เกิดความชำนาญในการต่อสู้ป้องกันตัวและศึกสงคราม ในสมัยโบราณจะมี สำนักเรียน (สำนักเรียนมวย แตกต่างจาก ค่ายมวย คือ สำนักเรียนจะมีเจ้าสำนัก หรือ ครูมวย ซึ่งมีฝีมือและชื่อเสียงเป็นที่เคารพรู้จัก มีความประสงค์ที่จะถ่ายทอดวิชาไม่ให้สูญหาย โดยมุ่งเน้นถ่ายทอดให้เฉพาะศิษย์ที่มีความเหมาะสม ส่วน ค่ายมวย เป็นที่รวมของผู้ที่ชื่นชอบในการชกมวย มีจุดประสงค์ที่จะแลกเปลี่ยนวิชาความรู้เพื่อนำไปใช้ในการแข่งขัน-ประลอง) โดยแยกเป็น สำนักหลวง และ สำนักราษฎร์ บ้างก็ฝึกเรียนร่วมกับเพลงดาบ กระบี่ กระบอง พลอง ทวน ง้าวและมีดหรือการต่อสู้อื่นๆ เพื่อใช้ในการต่อสู้ป้องกันตัวและใช้ในการสงคราม มีทั้งพระมหากษัตริย์และขุนนางแม่ทัพนายกองและชาวบ้านทั่วไป (ส่วนใหญ่เป็นชาย) และจะมีการแข่งขันต่อสู้-ประลองกันในงานวัด และงานเทศกาลโดยมีค่ายมวยและสำนักมวยต่างๆ ส่งนักมวยและครูมวยเข้าแข่งขันชิงรางวัล-เดิมพัน โดยยึดความเสมอภาค
บางครั้งจึงมีตำนานพระมหากษัตริย์หรือขุนนางที่เชี่ยวชาญการต่อสู้ปลอมตนเข้าร่วมแข่งขันเพื่อทดสอบฝีมือที่เป็นที่ปรากฏได้แก่ พระเจ้าเสือ (ขุนหลวงสรศักดิ์) พระเจ้าตากสินมหาราช พระยาพิชัยดาบหัก ครูดอก แขวงเมืองวิเศษไชยชาญ จนเมื่อไทยเสียกรุงแก่พม่า ปรากฏชื่อนายขนมต้ม ครูมวยชาวอยุธยา ซึ่งถูกกวาดต้อนเป็นเชลยศึกได้ชกมวยกับชาวพม่า ชนะหลายครั้งเป็นที่ปรากฏถึงความเก่งกาจเหี้ยมหาญของวิชามวยไทย ในสมัยอยุธยา ตอนปลายได้มีการจัดตั้งกรมทนายเลือกและกรมตำรวจหลวงขึ้นมีหน้าที่ในการให้การคุ้มครองกษัตริย์และราชวงศ์ ได้มีการฝึกหัดวิชาการต่อสู้ทั้งมวยไทยและมวยปล้ำตามแบบอย่างแขกเปอร์เซีย (อิหร่าน) จึงมีครูมวยไทยและนักมวยที่มีฝีมือเข้ารับราชการจำนวนมากและได้แสดงฝีมือในการต่อสู้ในราชสำนักและหน้าพระที่นั่งในงานเทศกาลต่างๆสืบต่อกันมาเป็นประจำ และเป็นที่น่าสังเกตว่า กองทัพกู้ชาติของพระเจ้าตาก ล้วนประกอบด้วยนักมวยและครูมวยที่มีชื่อเสียงในยุคนั้นจำนวนมาก ถึงกับได้มีการจัดตั้งเป็นหน่วยรบพิเศษ 3 กอง คือ กองทนายเลือก กองพระอาจารย์ และกองแก้วจินดา ซึ่งได้ปฏิบัติภารกิจที่สำคัญที่ทำให้คนไทยสิ้นความหวาดกลัวต่อทัพพม่า ในการรบที่บ้านนางแก้ว ราชบุรี จนอาจเรียกได้ว่า มวยไทยกู้ชาติ
กีฬามวยไทยได้รับความนิยมมากในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ยุคที่นับว่าเฟื่องฟูที่สุดคือ รัชกาลที่ 5 พระองค์ได้ศึกษาฝึกฝนการชกมวยไทยและโปรดให้จัดการแข่งขันชกมวยหน้าพระที่นั่งโดยคัดเลือกนักมวยฝีมือดีจากภาคต่างๆ มาประลองแข่งขัน และพระราชทานแต่งตั้งให้มีบรรดาศักดิ์ ทั้งยังโปรดให้กรมศึกษาธิการ บรรจุการสอนมวยไทยเป็นวิชาบังคับ ในโรงเรียนฝึกหัดครูพลศึกษา มีการชกมวยถวายหน้าพระที่นั่งเป็นประจำจนถึงสมัย รัชกาลที่ 6 ที่วังสวนกุหลาบ ทั้งการต่อสู้ประลองระหว่างนักมวย กับครูมวยชาวไทยด้วยกัน และการต่อสู้ระหว่างนักมวย กับครูมวยต่างชาติ ในการแข่งขันชกมวยในสมัยรัชกาลที่ 6 ระหว่างมวยเลี่ยะผะ (กังฟู) ชาวจีนโพ้นทะเล ชื่อนายจี่ฉ่าง กับ นายยัง หาญทะเล ศิษย์เอกของ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ มีท่าจรดมวยแบบมวยโคราช ซึ่งเน้นการยืดตัวตั้งตระหง่านพร้อมที่จะรุกและรับโดยเน้นการใช้เท้าและหมัดเหวี่ยง และต่อมาได้เป็นแบบอย่างในการฝึกหัดมวยไทยในสถาบันพลศึกษาส่วนใหญ่ สมัย รัชกาลที่ 7 ในยุคแรกการแข่งขันมวยไทยใช้การพันมือด้วยเชือก จนกระทั่งนายแพ เลี้ยงประเสริฐ นักมวยจากท่าเสา จ.อุตรดิตถ์ ต่อยนายเจียร์ นักมวยเขมร ด้วยหมัดเหวี่ยงควายถึงแก่ความตาย จึงเปลี่ยนมาสวมนวมแทน ต่อมาเริ่มมีการกำหนดกติกาในการชก และมีเวทีมาตรฐานขึ้นแห่งแรกคือเวทีมวยลุมพินีและเวทีมวยราชดำเนินจัดแข่งขันมวยไทยมาจนปัจจุบัน
แต่คำว่า มวยไทย มีมาใช้ในยุคหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายชาตินิยม ในยุคที่ีมี น.ต.หลวงศุภชลาศัย ร.น. เป็นอธิบดีกรมพละศึกษา มีการออกพระราชบัญญัติมวยไทย ซึ่งแต่เดิมมวยไทยจะมีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไปตามท้องถิ่น เช่น มวยโคราช, มวยไชยา และรวมถึงการก่อสร้างเวทีมวยมาตราฐานจวบจนปัจจุบัน คือ เวทีมวยลุมพินี และเวทีมวยราชดำเนิน[3]
ต่อมา พ.ศ. 2554 กระทรวงวัฒนธรรม ได้มีมติให้กำหนดเอา วันที่ 6 กุมภาพันธ์ ของทุกปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 เป็น "วันมวยไทย" โดยถือเอา วันขึ้นครองราชย์ของพระเจ้าเสือ แต่มีผู้ศึกษาประวัติศาสตร์มวยไทย ให้ความเห็นว่ามวยไทย มีกำเนิดมาก่อนยุคสมัยพระเจ้าเสือนานมาก และหากจะยกให้คนที่มีฝีมือใน วิชามวยไทยและเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป ทั้งในแง่เกียรติประวัติและความสามารถ ควรยกย่อง พระยาพิชัยดาบหัก (นายทองดี ฟันขาว) มากที่สุด เพราะมีประวัติความเป็นมาชัดเจนในการศึกษาวิชามวยไทย สำหรับนายขนมต้ม ซึ่งเป็นครูมวยกรุงเก่าและถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลยก่อนเสียกรุงครั้งที่ 2 ก็ถือว่าได้ใช้วิชามวยไทยแสดงให้ชาวต่างชาติเห็นได้น่ายกย่อง แต่ประวัติความเป็นมาของท่านไม่ชัดเจน แต่หากเห็นว่า ควรยกย่องพระมหากษัตริย์มากกว่าสามัญชน ก็น่าจะพิจารณา สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งพระองค์ท่านมีชีวประวัติชัดเจนในความสามารถในวิชามวยและการต่อสู้หลายแขนง ทั้งมีพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงกอบกู้เอกราชของชาติไทย ด้วยการรวบรวม ครูมวย นักมวย ที่มีฝีมือจำนวนมากเป็นหลักในกองกำลังกอบกู้อิสรภาพ
ไหว้ครู
การรำมวยไหว้ครูมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย โดยมีที่มาของการที่นักมวยต้องไปพักอาศัยอยู่กับครูมวยเพื่อคอยปรนนิบัติรับใช้ เพื่อให้ครูมวยแน่ใจว่าลูกศิษย์ของตนเป็นคนมีความซื่อสัตย์สุจริต มีความมานะพยายาม และมีความเคารพศรัทธาต่อครูผู้สอน จึงจะมีการอนุญาตให้ทำพิธีขึ้นครู หรือในบางท้องถิ่นเรียกว่า พิธียกครู เพื่อแสดงถึงการยอมรับซึ่งกันและกันทั้งครูและศิษย์
ส่วนการไหว้ครูรำมวย เป็นการแสดงความเคารพต่อครู บิดา มารดา รวมทั้งเป็นการขอพรต่ออำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อให้คุ้มครองตนให้ได้รับความปลอดภัยจากการชกมวย โดยแสดงออกเป็นท่ารำต่างๆที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากครูมวย รวมทั้งอาจมีการบริกรรมคาถาตามความเชื่อของแต่ละบุคคล ปัจจุบัน ชาวไทยส่วนใหญ่ ได้หันมาให้ความสนใจด้านการรักษาสุขภาพโดยมุ่งเน้นวิธีการแบบชาวตะวันตก แต่ไม่ได้ให้ความสำคัญต่อภูมิปัญญาแบบไทยเท่าใดนัก ซึ่งให้ประโยชน์ทั้งการเสริมสร้างสุขภาพกายและใจให้เข้มแข็ง ตลอดจนปลูกฝังด้านธรรมะ ซึ่งแท้จริงแล้วการไหว้ครูมวยไทย ท่ารำมวยไทย ท่าแม่ไม้ ท่าลูกไม้ และการชกลมเล่นเชิง มีประโยชน์ในการเสริมสร้างสุขภาพกาย สุขภาพใจ และแฝงถึงความสำคัญด้านคุณธรรม และมีส่วนส่งเสริมเอกลักษณ์ความเป็นไทยประการหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ชาวไทยหลายคนมิได้ตระหนักถึงคุณค่า และความสำคัญดังกล่าว เนื่องจากสถาบันการพลศึกษามิได้มุ่งเน้นความสำคัญ และเด็กหลายคนมิได้รับการปลูกฝังจากผู้ใหญ่ ซึ่งแท้จริงแล้วการไหว้ครูรำมวยเป็นการปฏิบัติที่มิได้สื่อถึงการแสดงการขอบคุณต่อครูมวย หรือเพียงการอบอุ่นร่างกายเท่านั้น หากแต่เป็นการระลึกถึงสิ่งสำคัญที่ครูมวยได้สอนมา
จากบันทึกที่ ร.3 โปรดเกล้าให้อาลักษณ์รวบรวมจารึกไว้ที่วัดโพธิ์ ผู้ที่ไม่เข้าใจถ่องแท้ในศิลปะศาสตร์ของไทย มักเอาอย่างชาวตะวันตกมาประยุกต์เข้ากับการฝึกมวยไทย เฉพาะที่คิดว่า พิสูจน์ได้ทางกายภาพเป็นรูปธรรม ทอดทิ้งการศึกษา ค้นคว้า วิธีการเดิม ซึ่งเน้นการเข้าถึง นามธรรม อันปฏิบัติได้ยาก ทั้งไม่สามารถพิสูจน์ได้ง่าย จึงพากันหาว่า วิธีการเก่าๆเป็นเรื่องงมงาย ลึกลับ เชื่อถือไม่ได้ องค์ความรู้สำคัญในส่วนนี้จึงค่อยๆสูญสิ้นไป พร้อมกับบรมครูบุรพาจารย์
![]() |
การแข่งขันไหว้ครูมวยไทย |
![]() |
บัวขาว ป.ประมุข |
หลักการชกมวยไทย
การชกมวยไทยที่ดี มีหลักสำคัญ คือ มีการป้องกัน ด้วยการยืน มั่นคง เข้มแข็ง สูงเด่น การตั้งแขนป้องกัน (การการ์ดมวย) และการเก็บคาง เปรียบเสมือนป้อมปราการ เท้าหน้า จรดชี้ไปข้างหน้าวางน้ำหนักครึ่งฝ่าเท้า เท้าหลัง วางทแยงเฉียงกว้างกว่าหัวไหล่วางน้ำหนักเศษหนึ่งส่วนสี่ไว้ที่อุ้งนิ้วหัวแม่โป้ง ขยับก้าวด้วยการลากเท้าหลังตามพร้อมที่จะหลอกล่อ ขยับเข้า ออก ตั้งรับและโจมตีตอบโต้ แขนหน้ายกกำขึ้นอย่างน้อยเสมอไหล่ หรือจรดสันแก้ม แขนหลังยกกำขึ้นจรดแก้ม ศอกทั้งสองข้างไม่กางออกและไม่แนบชิด ก้มหน้าเก็บคาง ตาเขม็งมองไปตรงหว่างอกของคู่ต้อสู้ พร้อมที่จะเห็นการเคลื่อนไหวทุกส่วน เพื่อที่จะรุก รับ หรือตอบโต้ด้วยแม่ไม้ ลูกไม้และการแจกลูกต่างๆ มีการเคลื่อนไหวที่องอาจมีจังหวะ มีการล่อหลอกและขู่ขวัญที่มีการเปรียบเทียบว่า "ประดุจพญาราชสีห์ และพญาคชสีห์" อาวุธมวยที่ออกไป ต้องมีเป้าหมายและจุดประสงค์แน่นอน (แต่มักซ้อนกลลวงไว้) มีการต่อสู้ระยะไกล (วงนอก) และระยะประชิด (วงใน) และมีทีเด็ดทีขาดในการพิชิตคู่ต่อสู้
![]() |
นักชกรุ่นจิ้ว |
![]() |
สินมณี แก้วสำริด แชมร์มวยรอบ ISUZU |
![]() |
สินมณี แก้วสำริด VS สุดสาคร ส.กลิ่นมี ในศึก THAI FIGHT |
![]() |
กระทิงเพรช ผลไม้ปลากัดยิม (ผมเองคนเขียนบล็อคสมัยยังชกอยู่ ^^) |
![]() |
หลักเสร็จศึกก็ภาพรูป ชนะน้อค ยก 3 คับ |
![]() |
บัวขาว ป.ประมุข |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น